เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 กลับมาเดินเครื่องว่า หลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เห็นชอบให้ กฟผ. นำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้า เพื่อช่วยลดภาระ ค่าไฟฟ้าของประชาชนจากผลกระทบราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น กฟผ. ได้ทดสอบการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 ทั้งระบบการผลิต และระบบกำจัดมลสาร ให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย กฟผ. จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าภายใต้ EHIA ที่ กกพ. อนุมัติ ซึ่งได้จ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบแล้วเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยลดการนำเข้า LNG ส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงโดยรวมลดลง และลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในช่วงวิกฤตพลังงานโลก
สำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 150 เมกะวัตต์ ได้ปลดออกจากระบบไฟฟ้าตั้งแต่ ปี 2562 กฟผ. ได้ทำการปรับปรุงให้มีความพร้อมในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า โดยมีกำหนดเดินเครื่องระหว่างเดือนธันวาคม 2565 – ธันวาคม 2568 คิดเป็นค่าพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 1,643 ล้านหน่วย ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) จากต่างประเทศที่มีความผันผวนและมีราคาสูงลงได้ประมาณ 10,800 ล้านบาท เป็นการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ปรับการผลิตไฟฟ้าเพื่อช่วยลดผลกระทบจากวิกฤตพลังงานโลก โดยเลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 จากเดือนธันวาคม 2564 ออกไปจนถึงเดือนธันวาคม 2568 ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2565 ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงแล้วประมาณ 13,623 ล้านบาท และปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าบางปะกงเป็นน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล ซึ่งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงเดือนกันยายน 2565 ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงแล้วประมาณ 2,378 ล้านบาท รวมถึงปรับแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP)
นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 กฟผ. ยังรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงค่าก๊าซฯ แทนประชาชนเป็นการชั่วคราวไปแล้วกว่า 122,257 ล้านบาท
ขอบพระคุณข้อมูล คุณ ฐิติภัทร์ ภาณุไพศาล