“สหกรณ์” เป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีความต้องการร่วมกันในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการหรือแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจสังคมของกลุ่มบุคคลนั้น โดยได้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล ซึ่งสหกรณ์จะแตกต่างจากนิติบุคคลอื่น ซึ่งผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้นสามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้ตามวัตถุประสงค์ ไม่ขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลของส่วนราชการใด ๆ ต่างจากสหกรณ์ซึ่งต้องดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติสหกรณ์ ข้อบังคับ ระเบียบต่าง ๆ โดยการกำกับดูแลของนายทะเบียนสหกรณ์ ภายใต้วัตถุประสงค์ของสหกรณ์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายสหกรณ์ ซึ่งตามมาตรา 15 กำหนดให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นนายทะเบียนสหกรณ์ โดยให้แต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองนายทะเบียนสหกรณ์ ให้มีอำนาจปฏิบัติการแทนนายทะเบียนสหกรณ์ ในการส่งเสริม แนะนำ และกำกับดูแลสหกรณ์ ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายสหกรณ์และกฎหมายอื่น เช่น การรับจดทะเบียนสหกรณ์ การสั่งเลิกสหกรณ์ การออกคำสั่งให้มีการตรวจสอบการดำเนินงานหรือฐานะการเงินของสหกรณ์ เป็นต้น รวมถึงการแต่งตั้งผู้ตรวจการสหกรณ์ ตามมาตรา 16 (3) ด้วย
“ผู้ตรวจการสหกรณ์” ที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรา 16 (3) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์ ตามที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด เมื่อตรวจสอบแล้วให้รายงานการตรวจสอบต่อนายทะเบียนสหกรณ์ ตามมาตรา 19 โดยตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ว่าด้วยผู้ตรวจการสหกรณ์ พ.ศ. 2559 กำหนดให้รองนายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้งผู้ตรวจการสหกรณ์ ซึ่งเป็นข้าราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยให้พิจารณาจากผู้ที่มีความเหมาะสม มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถใช้กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ได้ดี ซึ่งผู้ตรวจการสหกรณ์จะพ้นจากตำแหน่งเมื่อมีเหตุใดเหตุหนึ่ง ดังนี้ ตาย/ย้ายจากการเป็นข้าราชการในสังกัดที่ตนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการสหกรณ์/นายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ที่ใช้อำนาจแต่งตั้งสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง
“การตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์” มีวัตถุประสงค์เพื่อ ตรวจสอบ ป้องกันมิให้มีการกระทำ หรืองดเว้นการกระทำในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามอุดมการณ์ หลักการสหกรณ์ วัตถุประสงค์และอำนาจกระทำการของสหกรณ์ซึ่งกำหนดไว้ในข้อบังคับของสหกรณ์ การฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับ/ระเบียบของสหกรณ์ ระเบียบ/คำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ รวมถึงตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ ผู้ตรวจการสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ ที่เกี่ยวข้องกับกับสมาชิก เช่น การรับสมัครสมาชิก การให้บริการสมาชิกในรูปแบบต่าง ๆ หรือการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก เป็นต้น ตรวจสอบกรณีเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น เช่น การทำนิติกรรมสัญญาใดๆ ที่มีผลผูกพันสหกรณ์ กับบุคคลอื่น เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ธนาคาร หรือสหกรณ์อื่น เป็นต้น และตรวจสอบกรณีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภายในองค์กร เช่น การดำเนินการของเจ้าหน้าที่สหกรณ์ การดำเนินการตามแผนงานงบประมาณ การประชุม และมติของที่ประชุม เป็นต้น
ตรวจสอบฐานะการเงินของสหกรณ์ เกี่ยวกับการบริหารจัดการทางการเงินของสหกรณ์ เช่น ที่มาของเงินที่เข้าสู่สหกรณ์ การใช้ไปของเงินที่สหกรณ์ได้มา เส้นทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ การรักษาสภาพคล่อง และการก่อหนี้กู้ยืมหรือค้ำประกัน เป็นต้น
ผู้ตรวจการสหกรณ์ เมื่อเข้าตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์แล้ว หากพบว่ามีการปฏิบัติที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับสหกรณ์/ระเบียบต่าง ๆ ให้เสนอรายงานข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียนสหกรณ์เพื่อพิจารณาใช้อำนาจตามกฎหมาย สั่งการให้ดำเนินการแก้ไขตามมาตรา 20 และ/หรือ 22 (1) (2) (3) หรือ 89/3 วรรค 1 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นอกจากนี้ผู้ตรวจการสหกรณ์ ยังมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ สมาชิกของสหกรณ์ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสหกรณ์มาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานได้ ตามมาตรา 17 และหากมีผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหนังสือของผู้ตรวจการสหกรณ์ถือว่าผู้นั้นมีความผิดตามมาตรา 130 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบกิจการของสหกรณ์ในระหว่างเวลาทำงานของสหกรณ์ได้ ตามมาตรา 18 ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องต้องอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือหรือให้คำชี้แจง หากผู้ใดขัดขวางหรือไม่ให้คำชี้แจงแก่ผู้ตรวจการสหกรณ์ มีความผิดตามมาตรา 131 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
สหกรณ์จังหวัดนนทบุรี