ที่โรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก จ.สุพรรณบุรี ดร.อุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงานดนตรีบำบัดสำหรับการพัฒนาสุขภาวะผู้สูงวัย Music Therapy for the Elderly โดยมีนายอนันต์ ดนตรี รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางอภิญญา เอี่ยมอำภา รอง ผวจ.สุพรรณบุรี คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกลุ่มผู้สูงวัยจากอำเภอต่างๆ ร่วมพิธี
ดร.อุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า คงไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินคำว่าสังคมสูงอายุหรือสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete- Aged Society) ประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวนมากถึง 13,064,929 คน คิดเป็นร้อยละ 20.08 ของประชากรทั้งหมด จากการคาดประมาณประชากรโดยวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าหากภาวะอัตราการเกิดยังอยู่ในระดับต่ำเช่นในปัจจุบัน จำนวนประชากรของประเทศไทยอาจจะลดจาก 66.05 ล้านคนเหลือเพียงประมาณ 58.26 ล้านคนในอีก 25 ปีข้างหน้า
จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้สูงอายุที่นับว่าเป็นกลุ่มประชากรที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในบริบทของสังคมสูงวัย ซึ่งมีเป้าหมายทางสังคมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยทำให้ประชาชนมีชีวิตที่มีความสุข มีสวัสดิการที่เหมาะสมกิจกรรม
ดังนั้นดนตรีบำบัดสำหรับการพัฒนาสุขภาวะผู้สูงวัย Music Therapy for the Elderly ที่จัดขึ้น นับเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญและเร่งด่วน คือ การมุ่งการป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรค เสริมการมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของผู้สูงอายุ ต้องขอขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดลสำหรับความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาด้านดนตรีบำบัดสำหรับประชาชนคนทุกช่วงวัยดนตรีบำบัด เป็นการรวมเอาศาสตร์ด้านการแพทย์ และจิตวิทยาเข้าไว้ด้วยกัน ด้วยการใช้ดนตรีมาเป็นสื่อกลางทาง การรักษาผู้ป่วย โดยดนตรีบำบัดมีส่วนช่วยอย่างมากในเรื่องของทางจิตใจและสมอง สามารถลดการเจ็บปวด ความวิตกกังวลได้อย่างดี อีกทั้งยังพัฒนาสมองช่วยการเรียนรู้ได้อีกด้วย เสียงดนตรีมีส่วนช่วยในการบำบัดโรคต่างๆ ได้ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ดนตรีมีประโยชน์ทางการบำบัดได้ถึงขนาดนั้น ก็เป็นเพราะองค์ประกอบต่างๆ ของดนตรีมีผลในด้านจิตวิทยาและการทำงานของสมองโดยตรงนั่นเอง