กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมกับสภาวัฒนธรรมจังหวัดปราจีนบุรี ขอเชิญร่วมโหวตสุดยอดเมนูอาหารถิ่นของจังหวัดปราจีนบุรี “๑ จังหวัด ๑ เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้แนวคิด การส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ซึ่งเป็นเมนูอาหารถิ่นที่เสี่ยงต่อการสูญหาย หาทานได้เฉพาะถิ่น ไม่ได้มีการบริโภคอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ควรได้รับการรักษาและสืบทอด เพราะเป็นอาหารที่แสดงถึงภูมิปัญญา ความผูกพัน ในวิถีชีวิตและนำวัตถุดิบพื้นถิ่นมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนประกอบ ภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความหลากหลาย ทางชีวภาพเป็นอาหารที่มีคุณค่า เป็นแบบอย่างที่ควรเชิดชูให้อยู่คู่กับท้องถิ่น ทำให้เกิดการรักษา และฟื้นฟู พัฒนาไปสู่เมนูอาหารถิ่นที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชน ทำให้เกิดการอนุรักษ์และสืบสานให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของจังหวัดปราจีนบุรี ในการเปิดให้ร่วมโหวตครั้งนี้ มีเมนูอาหารถิ่นของจังหวัดปราจีนบุรี จำนวน ๘ รายการอาหาร ประกอบด้วย
ขนมจีนน้ำพริก เป็นอาหารโบราณที่ต้องใช้ความประณีต พิถีพิถันในการปรุง วัตถุดิบ เครื่องปรุง และเครื่องเคียง ถูกคิดค้นด้วยภูมิปัญญาให้รับประทานด้วยกันอย่างลงตัว น้ำพริกมีความพิเศษกว่าทั่วไปคือใช้มันกุ้งและเนื้อกุ้งแม่น้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรี ให้สีสันที่สวยงาม รสชาติที่อร่อย กลมกล่อม และมีประโยชน์ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ
แกงคั่วกุ้งกระท้อน คำว่า แกงคั่ว มาจากรากศัพท์ คำว่า “Kuah” ในภาษามาลายู เป็นอาหารประเภทแกงโบราณ ปรากฏในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นแกงคั่วผลไม้ที่หาทานได้ยาก พบได้เฉพาะพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกกระท้อน อย่างเช่น ในจังหวัดปราจีนบุรี มีรสชาติอร่อย ได้ความเปรี้ยวจากกระท้อน และความสดจากกุ้งที่เพาะเลี้ยงมากในจังหวัดปราจีนบุรี อีกทั้ง กระท้อนเป็นผลไม้ที่อุดมด้วยไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำได้ ช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือดและคอเลสเตอรอล
แกงคั่วกระท้อนคอหมูย่าง เป็นอาหารประเภทแกงโบราณ หาทานได้ยาก พบได้เฉพาะพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกกระท้อน อย่างเช่น ในจังหวัดปราจีนบุรี มีส่วนประกอบพื้นฐานเช่นเดียวกับแกงคั่วกระท้อนกุ้ง แต่มีความอร่อยที่แตกต่างจากคอหมูย่างที่ผ่านการหมักและย่างอย่างดี ได้ความเปรี้ยวจากกระท้อน ช่วงฤดูกาลกระท้อนจะมีเห็ดตับเต่าขึ้นตามธรรมชาติ จึงใส่เห็ดตับเต่าลงไปเพื่อเพิ่มความอร่อยและคุณค่าทางโภชนาการให้มากขึ้น
ขนมจีบนกไส้กุ้ง ในพื้นที่อำเภอบ้านสร้างมีการทำเกษตรกรรมการเลี้ยงกุ้งเป็นจำนวนมาก ทางร้านจึงนำกุ้งมาเป็นส่วนผสมในขนมจีบนก เพื่อสร้างมูลค่าให้กับวัตถุดิบที่มีมากในท้องถิ่น ซึ่งนอกจากจะเป็นอาหารว่างที่อร่อย สวยงามแล้ว ยังสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดโดยดัดแปลงไส้ขนมจีบจากวัตถุดิบอื่นในจังหวัดปราจีนบุรี เช่น หน่อไม้ ทุเรียน เป็นต้น
ไส้กรอกหน่อไม้ หน่อไม้ถือว่าเป็นวัตถุดิบที่มีมากในพื้นที่และในชุมชน เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดปราจีนบุรีซึ่งปรากฏอยู่ในคำขวัญของจังหวัดและอำเภอประจันตคาม ไส้กรอกหน่อไม้ได้มีการริเริ่มมานานจากเมนูผัดพริกหน่อไม้และต่อมา มีการนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นไส้กรอกหน่อไม้จากภูมิปัญญาการถนอมอาหารท้องถิ่น โดยมีวิธีการปรุงจากสูตรดั้งเดิม เลือกใช้เฉพาะส่วนกลางของหน่อไม้ซึ่งเป็นส่วนที่มีรสสัมผัสหวานกรอบ
ขนมตะโก้เผือก เป็นขนมไทยโบราณที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน ผ่านกระบวนการผสมผสานวัตถุดิบอย่างลงตัว เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่การเลือกใช้เผือกที่ปลูกในท้องถิ่น มีความสดใหม่ ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ตะโก้เผือกมีสีสันสวยงามและรสชาติอร่อยอันเป็นเอกลักษณ์ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชน
ขนมสายบัว เป็นขนมไทยโบราณที่มีสายบัวเป็นส่วนประกอบผสมกับแป้ง น้ำตาล และกะทิ รสชาติอร่อย หารับประทานได้ยากในปัจจุบัน เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการนำสายบัวมาประกอบอาหารหวาน นอกจากจะทำรับประทานในครัวเรือนยังสามารถประยุกต์โดยการนึ่งใส่พิมพ์รูปแบบต่างๆ เพื่อความสวยงามและเพิ่มมูลค่าของขนมได้อีกด้วย
ขนมหน่อไม้ คำขวัญจังหวัดปราจีนบุรี “ศรีมหาโพธิ์คู่บ้าน ไผ่ตงหวาน คู่เมือง ผลไม้ลือเลื่อง เขตเมืองทวาราวดี” หน่อไม้ไผ่ตง เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจังหวัดปราจีนบุรี และเป็นวัตถุดิบที่มีทั่วไปในพื้นที่ในช่วงฤดูฝน จึงเกิดภูมิปัญญาในการนำหน่อไม้ไผ่ตงมาประกอบขนมหวาน มีรสชาติหวานหอมมันด้วยหน่อไม้ไผ่ตงอ่อนกำลังดี แป้งมัน และกะทิสด ห่อด้วยใบตอง ทำให้ได้ขนมที่มีรสชาติหวานอร่อย และมีกลิ่นหอมจากใบตอง
ผู้สนใจสามารถร่วมโหวตได้ทางลิงก์ https://forms.gle/qBfi12SeEg2JCX6V8 ระหว่างวันที่ ๑ – ๙ สิงหาคม ๒๕๖๗
CR.สำนักงานวัฒนธรรมไทยจังหวัดปราจีนบุรี
ภาพ ข่าว นอง&ตาล บูรพา หนังสือพิมพ์ประชาไทนิวส์ออนไลน์ จังหวัดปราจีนบุรี