Home » Blog » รมว.วราวุธ ชู “กระเสียวโมเดล” สำเร็จ สร้างรายได้-อาชีพมั่นคงให้กลุ่มเปราะบาง 
IMG_0635
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์

วันที่ 19 กันยายน 2567 ที่ อ.ด่านช้าง จ. สุพรรณบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเป้าหมายพิเศษในพื้นที่นิคมสร้างตนเอง ประจำปีงบประมาณ 2567 (นิคม Next : กระเสียวโมเดล) โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงาน  นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี และนางจตุพร โรจนพานิช ร่วมเป็นเกียรติ ที่นิคมสร้างตนเองกระเสียว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี จากนั้น เดินทางไปเยี่ยมชมบ้านนางบังอร อ่อนคำสี ตัวอย่าง : การพัฒนาทุนมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 และการแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่นให้กับสมาชิกนิคมและราษฎร เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างมั่นคง นำไปสู่การสร้างสังคมคุณภาพที่เข้มแข็งและยั่งยืน 

นายวราวุธ กล่าวว่า โครงการนิคม Next หรือ “กระเสียวโมเดล” เกิดขึ้นภายใต้นโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ ทุนทางสังคม พร้อมมอบโอกาสและสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อคนทุกช่วงวัย ผนวกกับการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ BCG โมเดล มาเป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ โดยใช้พื้นที่นิคมสร้างตนเองกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นต้นแบบในการพัฒนาทุกมิติทางสังคมและครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการบูรณาการระหว่างหน่วยงานของกระทรวง พม. กับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และประชาชน พร้อมนำ “กระเสียวโมเดล” เป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนด้านอาชีพและรายได้  เพื่อครอบครัวไทยที่เข้มแข็ง เป็นรากฐานที่มั่นคงให้กับสังคมไทยทั่วประเทศ

นายวราวุธ กล่าวว่า โครงการนิคม Next หรือ “กระเสียวโมเดล” ได้นายกนก วงษ์ตระหง่าน อดีตรองประธานคณะที่ปรึกษาติดตามและเร่งรัดการขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. ผลักดันมาตลอดระยะเวลาเกือบปีที่ผ่านมา ทำให้สถานที่แห่งนี้ได้มีโอกาสดำเนินตามนโยบายที่เราได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและที่ประชุมของสหประชาชาติ คือนโยบาย 5×5 ฝากวิกฤตประชากร ซึ่งประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ที่พูดถึงการเสริมพลังให้กับคนวัยทำงาน การดูแลเด็กเล็ก การเสริมพลังของผู้สูงอายุ การเสริมศักยภาพของคนพิการ รวมถึงการสร้างสังคมที่อบอุ่นและเอื้อให้กับมนุษย์รุ่นใหม่ในเรื่องการที่จะมีครอบครัวและมีทายาทต่อไปในอนาคต ซึ่งทั้ง 5 ยุทธศาสตร์รวมกันเป็นนโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤติประชากร เป็นสิ่งที่ต้องบอกว่าเป็นการทำงานที่ต้องบูรณาการงานของหลายหน่วยงานเข้าด้วยกัน ที่แห่งนี้ที่เรายืนอยู่ ถือเป็นตัวอย่างเป็นการนำร่อง โครงการนิคม Next หรือ “กระเสียวโมเดล” ที่เป็นตัวอย่างให้อีกหลายๆ นิคมสร้างตนเองในประเทศไทย และอีกหลายชุมชน หลายจังหวัดทั่วประเทศว่าที่แห่งนี้เราสามารถพัฒนาจนกระทั่งทางพี่น้องประชาชนที่อยู่ในนิคมสร้างตนเองแห่งนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเดือนนับหมื่นบาท เรามีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ทำให้พี่น้องประชาชนนั้นสามารถดูแลเด็กประมาณเกือบ 30 ครอบครัว ทำให้เด็กของเรามีคุณภาพดีขึ้น โดยการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ เรามีการเสริมพลังให้กับพี่น้องคนสูงอายุและคนพิการจนกระทั่งสองกลุ่มนี้ที่เป็นกลุ่มเปราะบางนั้น ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางอีกต่อไป แต่ในทางกลับกันสร้างรายได้ให้ รวมถึงชุมชนแห่งนี้ และที่สำคัญที่สุดที่นิคมสร้างตนเองกระเสียวแห่งนี้ เราสามารถสร้างครอบครัวตัวอย่างได้หลายสิบครอบครัวเป็นครอบครัวที่อบอุ่นอยู่กันข้ามรุ่นเรียกว่าเป็นอินเตอร์เจนเนอเรชั่น เฮ้าส์ซิ่ง มีตั้งแต่รุ่น ปู่ ย่า ตา ทวด จนถึงลูกหลานเหลน และอยู่ร่วมกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นการสร้างสังคมที่มีความอบอุ่น มีความเข้มแข็งและพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

“ดังนั้นวันนี้การทำงานของกระทรวง พม. ที่นิคมสร้างตนเองกระเสียวแห่งนี้ เป็นการทำงานภายใต้แนวคิดนโยบาย พม. หนึ่งเดียว และที่สำคัญกว่าจะทำถึงขนาดนี้ได้นั้น เป็นไปตามแนวทางที่ตนให้ไว้ตอนแรก คือ พม. ยกกำลังสอง เราทำงานด้วยกันทุกหน่วยงานและบูรณาการด้วยกัน และที่สำคัญ นอกจากนิคมสร้างตนเองกระเสียวจะเป็นพื้นที่ตัวอย่างแล้วเราจะขยายความสำเร็จนี้ไปอีกทุกๆ นิคมสร้างตนเองในประเทศไทย และ หากว่าชุมชนใดที่อยู่นอกเหนือการดูแลของนิคมสร้างตนเองนั้นอยากจะทำงานในลักษณะเดียวกันติดต่อมาได้ ที่กระทรวง พม.  เราจะให้ทีมงานของเราเป็นพี่เลี้ยงคอยดูให้คำแนะนำและทำอย่างไรเพื่อให้นโยบาย 5×5 ฝ่าวิกฤตประชากร  ทำให้สังคมไทยนั้นมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น อบอุ่นมากยิ่งขึ้น และท้ายที่สุดจะสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติประชากรที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ได้

นายวราวุธ กล่าวว่า การขับเคลื่อน โครงการนิคม Next หรือ “กระเสียวโมเดล” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงภายในพื้นที่หลายมิติอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้  

1) มิติเศรษฐกิจ สมาชิกนิคมฯ ผู้ผลิตตะไคร้และขมิ้นชัน มีรายได้เพิ่มขึ้น 5,000 – 10,000 บาท/เดือน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรบ้านพุหวาย ได้องค์ความรู้การทำขนมเบเกอรี่ที่หลากหลาย สนับสนุนให้มีการรับรองมาตรฐานสินค้า ปรับปรุงแพ็คเกจ และหาตลาดรองรับร่วมกับเซ็นทรัล ทำให้มีรายได้เพิ่ม 300 – 500 บาท/คน รวมถึงมีการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุและคนพิการเลี้ยงจิ้งหรีด ทำให้มีรายได้เพิ่ม 500 – 4,000 บาท/คน

2) มิติสิ่งแวดล้อม สมาชิกนิคมฯ และประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีน้ำบาดาลใช้เพื่อการเกษตร โดยวางระบบน้ำหยด ขนาด 60 ไร่ และ 500 ไร่ จำนวน 44 ราย รวมถึงสามารถปรับระบบป่านิเวศชุมชน 18 ไร่ ด้วยการปลูกกล้าไม้เศรษฐกิจ 7,200 ต้น พร้อมเติมเชื้อเห็ดเผาะ/เห็ดโคน ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพและรายได้เสริม

3) มิติทางสังคม ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านวังหน่อไม้ได้รับการปรับปรุง ทำให้เด็ก 36 คน มีผลการประเมิน DSPM 100 % ตามแนวทาง High Scope ด้วยระบบ Active Learning นอกจากนี้ ยังมีเด็กและเยาวชนได้รับการพัฒนาเรื่องระเบียบวินัยและพัฒนาการ ผู้สูงอายุได้รับการดูแลครบถ้วนทั้ง 5 มิติ และเข้าถึงสวัสดิการ 100% ตลอดจนเกิดครอบครัวต้นแบบ 36 ครอบครัว ที่คนในครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ดี อบอุ่น รู้จักหน้าที่ และช่วยกันประกอบอาชีพกันมากขึ้น

นันทชัย ศิริอรุณรัตน์ สุพรรณบุรี รายงาน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *