กรณีวันที่ 23 พ.ย.64 ได้มีกลุ่มชาวบ้าน และกลุ่มเกษตรกรด้านประมง จาก อ.สองพี่น้อง และ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี พร้อมด้วย ดร.อุดม โปร่งฟ้า ที่ปรึกษา รมว.ทส.ในสมัยนั้น ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา รมว.พม.ที่ปรึกษา เลขาธิการ ปปง. และที่ปรึกษา นายกสภาทนายความ หัวหน้าทีมทนายความ พร้อมทีมทนายความ ยื่นเรื่องศาลปกครองสุพรรณบุรี ฟ้องกรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการที่กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำโดยผิดพลาด ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงและน้ำท่วมขังในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นระยะเวลากว่า 2 เดือน ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนทั้งที่พักอาศัยและที่ทำกิน
โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ทำนา ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม 100% และส่วนใหญ่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว มีภาระหนี้สินจำนวนมาก คิดเป็นค่าเสียหายรวมประมาณ 140 ล้านบาทเศษ โดยได้มีชาวบ้านกว่า 2 พันครอบครัวได้แสดงเจตนาที่จะยื่นฟ้องกรมชลประทานกับ ดร.อุดม และทีมทนายความ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ความคืบหน้าเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 11 ม.ค. ที่บริเวณหน้าศาลปกครอง จ.สุพรรณบุรี ดร.อุดม โปร่งฟ้า หัวหน้าทีมทนายความ และกลุ่มทนายความ ที่ร่วมกันว่าความให้กลุ่มเกษตนกรชาวสุพรรณบุรี กล่าวว่า ดร.อุดม กล่าวว่า สาเหตุที่ชาวบ้านต้องยื่นฟ้องกรมชลประทานกับพวกต่อศาลปกครองสุพรรณบุรี ก็เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในจังหวัดสุพรรณบุรีเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในปี 2564 เกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ ที่กรมชลประทานได้ระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีโดยไม่ยอมระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพราะเกรงว่าอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดปริมณฑลและกรุงเทพมหานคร แต่ปล่อยให้ชาวสุพรรณบุรีต้องได้รับความเดือดร้อนเสียหายเพียงจังหวัดเดียว ที่สำคัญ รัฐบาลให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอยู่เสมอว่าเป็นห่วงชาวสุพรรณบุรีที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม แต่กลับไม่มีมาตรการใดๆที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน โดยเฉพาะเมื่อชาวบ้านทราบว่า รัฐบาลจะจ่ายเงินชดเชยหรือเยียวยาให้แก่ชาวบ้านในจังหวัดสุพรรณบุรีเพียงเล็กน้อย ทั้งที่ชาวบ้านได้รับความเสียหายจริงมากกว่าเงินที่รัฐบาลจะจ่ายชดเชย ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถยอมรับได้ จึงได้รวมตัวกันยื่นฟ้องกรมชลประทาน
ดร.อุดม กล่าวต่อว่าไม่มีปรากฎการณ์น้ำท่วมใหญ่ของ จ.สุพรรณบุรี เท่าปี 2564 ซึ่งมีผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะ อ.บางปลาม้า อ.สองพี่น้อง และลามมาถึงในเขต อ.เมืองสุพรรณบุรี และอีกหลายพื้นที่เรียกว่าเป็นทุ่งทะเลก็ว่าได้ ตนและ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ ในขณะนั้นในบินตรวจดู เห็นความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบคือกลุ่มทำนา ทำการเกษตร ประมง จึงมีมติในนามพรรคชาติไทยพัฒนา ต้องช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ก็คือต้องฟ้องกรมชลประทาน และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหาย และการชดเชยเยียวยาต่างๆต้องได้รับความเป็นธรรมด้วย ให้พอเพียงกับที่ได้รับความเสียหาย หลังจากที่เราได้มีการฟ้องร้องที่ศาลปกครองสุพรรณบุรี จำนวน 553 คดี และเมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสุพรรณบุรี ได้มีคำพิพากษาในชุดแรกออกแล้วทั้งหมด 36 คดี ซึ่งให้รัฐบาล โดยเฉพาะกรมชลประทานนั้นเยียวยาให้กับพี่น้องประชาชนเพิ่มอีก 30 เปอร์เซนต์ จากที่ได้มีการเยียวยาแล้ว ซึ่งเดิมทีได้รับการเยียวยาไร่ละ 11,780 บาท ศาลปกครองให้ชำระอีก 30 เปอร์เซ็นต์ จะได้เพิ่มอีกละประมาณ 4,000 บาท
ถือว่าวันนี้เราประสบความสำเร็จในส่วนหนึ่ง ชาวบ้านดีใจกันมาก ทีมงานและพี่น้องประชาชนก็เฝ้ารอวันนี้ว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษาอย่างไร ต่อไปก็จะเป็นมาตรฐานว่าเมื่อปล่อยน้ำมาในทุ่งรับน้ำ รัฐบาลต้องเยียวยาให้ประชาชนขั้นต่ำอย่างน้อยไร่ละ 16,000 บาท แต่ถ้าความเสียหายมากกว่านั้นทางฝ่ายกฎหมายเรากำลังพิจารณาว่า เรื่องของการที่เราขาดโอกาส ขาดรายได้ต่างๆ ซึ่งศาลปกครองยังไม่ได้ให้เรา อาจจะต้องขอความเมตตาจากศาลปกครองสูงสุดในการพิจารณาในส่วนนี้ เพราะพี่น้องประชาชนเราเดือดร้อนจริงๆ และขอให้ได้รับตามความเป็นจริง
ด้านนายมานิตย์ พุทธจรรยา เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง ชาว ต.องค์รักษ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่าต้องขอแสดงความขอบคุณ ดร.อุดม และทีมทนายความ ในฐานะตัวแทนของ นายวราวุธ ศิลปอาชา ที่ช่วยดำเนินการผลักดันให้เกษตรกรได้รับเงินเยียวยาที่สมเหตุสมผล ทำให้ชาวบ้านมีความสุขมาก หลังจากที่รอศาลปกครองพิจารณามาตั้งแต่ปี 2564 วันนี้ประสบความสำเร็จแล้ว ถ้าไม่ได้ทีมงานของนายวราวุธ ลำพังชาวบ้านเอง คงจะไม่สามารถฟ้องร้องได้สำเร็จ ซึ่งเชื่อว่าต่อไปจะเป็นมาตรฐานของกรมชลประทาน ที่จะปล่อยน้ำให้เราตามกำหนด ไม่ใช่ปล่อยให้น้ำท่วมแบบไม่ทันตั้งตัวแบบปี 2564 ที่ผ่านมา
Cr. คุณเปิ้ล ซีโฟร์ สุพรรณบุรี